จับตาชิปเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ 6 ชนิด โตรับเทรนด์โลก

จับตาชิปเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ 6 ชนิด โตรับเทรนด์โลก

อัปเดตล่าสุด 27 เม.ย. 2566
  • Share :
  • 41,608 Reads   

ความแพร่หลายของระบบคลาวด์, Data Center, รถยนต์ไฟฟ้า, และระบบ ADAS ในยานยนต์ กำลังส่งผลดีต่อตลาดชิปเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ 6 ชนิดที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น 

วันที่ 17 เมษายน 2023 สำนักวิเคราะห์ Fuji Keizai ประเทศญี่ปุ่น เผยผลสำรวจตลาดส่วนประกอบชิปเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั่วโลกประจำปี 2023 โดยมูลค่าตลาดส่วนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 40.0389 ล้านล้านเยน (3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 2.0% จากปีก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าตลาดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอยู่ที่ 5.863 ล้านล้านเยน (4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 33.7% จากปีก่อนหน้า

Advertisement

ในช่วงที่ผ่านมา การทำงานแบบ Remote Work ทำให้ตลาดคอมพิวเตอร์เติบโตอย่างมากจนเข้าปี 2022 ความต้องการคอมพิวเตอร์ลดลงมาอยู่ในระดับปกติ ขณะที่ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์สำหรับเครื่องเซิร์ฟเวอร์เพิ่มขึ้นมากถึง 20% เช่น Server accelerator และ Ethernet switch, ส่วนประกอบสำหรับ Data Center เช่น Magnetoresistive RAM (MRAM), และส่วนประกอบสำหรับยานยนต์ เช่น SoC (System-on-Chip), ชิป FPGA, Insulated-gate bipolar transistor (IGBT)

ความต้องการอุปกรณ์ Lithography มีสัดส่วนถึง 40% ของตลาดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในปี 2022 เช่น หน่วยความจำ อุปกรณ์อนาล็อก อุปกรณ์ไฟฟ้า และเซนเซอร์ ซึ่งตลาดกำลังขยายตัวจากการเร่งจัดส่งสินค้าที่ตกค้างจำนวนมากจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังมีการเติบโตของอุปกรณ์การขึ้นรูปและเครื่องเชื่อมประสานแบบพลิกชิปอีกด้วย 

บริษัทผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ และโรงงาน Foundry จะเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป 

ในปี 2028 คาดการณ์ว่าตลาดส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะอยู่ที่ 55.5373 ล้านล้านเยน (4.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 41.5% ด้านตลาดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจะอยู่ที่ 8.428 ล้านล้านเยน ( 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 92.2% จากปี 2021

“ชิปเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง” โตรับเทรนด์โลก 

Server accelerator

Server accelerator คือ  วงจรรวมชนิดหนึ่งทำหน้าที่ประมวลผลแบบขนานจากส่วนกลาง มักถูกใช้เป็นอุปกรณ์เสริมให้ CPU ที่มีประสิทธิภาพการประมวลผลแบบขนานต่ำ ปัจจุบันความต้องการ Server accelerator สำหรับเซิร์ฟเวอร์ใน Data Center เพื่อเพิ่มความเร็วและคุณภาพของบริการคลาวด์ให้ดียิ่งขึ้นกำลังเติบโตด้วยดี

ในปี 2022 การจำกัดการส่งออก "A100" และ "H100" ของ NVIDIA ไปยังประเทศจีนของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นปัจจัยลบ ทำให้มูลค่าตลาด Server accelerator ทั่วโลกจะอยู่ที่ 2.073 แสนล้านเยน (1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 43.0% จากปีก่อนหน้า และคาดการณ์ว่าในปี 2028 จะอยู่ที่ 5.123 แสนล้านเยน (3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 3.5 เท่าจากปี 2021 

CPU สำหรับเครื่องเซิร์ฟเวอร์

ตลาด CPU สำหรับเซิร์ฟเวอร์นั้นยังมั่นคงและกำลังขยายตัว โดยในปี 2022 ภาพรวมของตลาด CPU ประสบความล่าช้าในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ และเกิดการชะลอการลงทุนของผู้ให้บริการคลาวด์ทำให้มูลค่าตลาด CPU อยู่ที่ 9.2 ล้านล้านเยน (6.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นเพียง 8.2% จากปีก่อนหน้า โดยความต้องการ CPU สำหรับคอมพิวเตอร์ได้ลดลงอย่างมาก 

สำหรับปี 2023 คาดการณ์ว่าความต้องการคอมพิวเตอร์จะยังคงมีความต้องการชะลอตัวลงอีก และกลับมาฟื้นตัวในปี 2025 เป็นต้นไป โดยเฉพาะความต้องการ CPU สำหรับเซิร์ฟเวอร์ที่มีราคาต่อหน่วยสูง โดยในปี 2028 มูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 10.89 ล้านล้านเยน (8.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 28.2% จากปี 2021 

SoC และ FPGA สำหรับยานยนต์

SoC (System-on-Chip) และ FPGA คือ ชิ้นส่วนที่ถูกใช้ในอุปกรณ์แสดงผลข้อมูล เช่น ระบบนำทางยานยนต์, ระบบ In-Vehicle Infotainment (IVI), และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ ADAS เช่น กล้องรถยนต์และเรดาร์คลื่นมิลลิเมตร ซึ่งความแตกต่างคือ SoC เป็นวงจรรวมที่ประกอบขึ้นจากชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่มีฟังก์ชันเดียวหลายตัวเข้าด้วยกันโดยมีไมโครโปรเซสเซอร์ (MPU) เป็นแกนกลาง ส่วน FPGA เป็นอุปกรณ์ลอจิกที่โปรแกรมซ้ำได้

ในปี 2022 มูลค่าตลาด SoC และ FPGA สำหรับยานยนต์ทั่วโลกอยู่ที่ 7.36 แสนล้านเยน (5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 35.3% จากปีก่อนหน้า ซึ่งระบบ ADAS และเทคโนโลยี Connected Car ที่กำลังแพร่หลายมากขึ้น พร้อมกับความก้าวหน้าของระบบ IVI ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2028 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.369 ล้านล้านเยน (1.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากปี 2021 

DRAM

DRAM ถูกใช้เพื่อให้การบันทึกข้อมูลทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ LPDDR สำหรับอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต, DDR สำหรับคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์, และ GDDR สำหรับการ์ดจอ

ในปี 2022 มูลค่าตลาด DRAM ทั่วโลกอยู่ที่ 10.9 ล้านล้านเยน (8.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นเพียง 1.9% จากปีก่อนหน้า สืบเนื่องจากการชะลอตัวของตลาดผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศจีน แต่ยังมีความต้องการ DDR จากอเมริกาเหนือชดเชย และคาดว่าในปี 2028 มูลค่าตลาด DRAM อยู่ที่ 17.8 ล้านล้านเยน (1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 66.4% จากปี 2021 

NAND

NAND เป็นหน่วยความจำถาวร (Nonvolatile Memory) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 2D NAND ที่วางเรียงกันในแนวราบ และ 3D NAND ที่วางซ้อนกัน ซึ่งแนวทางการพัฒนาในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับจำนวน NAND ทำให้คาดการณ์ว่าในอนาคต 3D NAND จะมีความต้องการมากขึ้น

ในปี 2022 มูลค่าตลาด NAND ทั่วโลกอยู่ที่ 7.25 ล้านล้านเยน (5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 3.8% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน โดยคาดว่าในปี 2028 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 11.9 ล้านล้านเยน (8.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 57.8% จากปี 2021 

 

#Semiconductor #ชิป #อิเล็กทรอนิกส์ #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH